การกำกับดูแลกิจการ
“ซิมโฟนี่ ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย”
บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีเสมอมา ด้วยเชื่อว่า การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ จะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ เพิ่มมูลค่าและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการภายในประเทศ เช่น หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามเกณฑ์โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตลอดจนหลักเกณฑ์ในระดับสากล เช่น หลักเกณฑ์ของ ASEAN Corporate Governance Scorecard และหลักเกณฑ์ของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นต้น
ด้วยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการจากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) จากสมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors – IOD) ในระดับ “ดีเลิศ” หรือ “5 ดาว” ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2563
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการบริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมุ่งมั่นที่จะยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและกำกับดูแลกิจการขึ้น โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนด ประเมิน ทบทวนและปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ สภาพแวดล้อม และกฎหมายในแต่ละช่วงเวลา และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งดูแลให้มีการสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ เพื่อให้ทุกคนรับทราบและยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการเป็นบริษัทฯ ที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ มีการกำกับดูแลกิจการและการบริหารงานที่เป็นเลิศ มีคุณธรรม โปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชันและสามารถตรวจสอบได้
นโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ถูกกำหนดขึ้นโดยครอบคลุมหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 5 หมวด ได้แก่
หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น
ผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีสิทธิในความเป็นเจ้าของบริษัทฯ โดยควบคุมบริษัทฯ ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้ทำหน้าที่แทนตน คณะกรรมการบริษัทจึงตระหนักและเคารพในสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของบริษัทฯ ของผู้ถือหุ้น และมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น รวมทั้งส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิในเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้ถือหุ้นสมควรได้รับ อาทิ สิทธิในการซื้อ ขายและโอนหุ้น สิทธิในส่วนแบ่งกำไร สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศที่เพียงพอและถูกต้องชัดเจน สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน สิทธิในการเลือกตั้งหรือถอดถอนกรรมการ สิทธิในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนกรรมการบริษัท สิทธิในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี สิทธิในการเข้าร่วมตัดสินใจและทราบถึงผลการตัดสินใจของบริษัทฯ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ และสิทธิประการอื่น ๆ ที่ผู้ถือหุ้นพึงได้รับตามกฎหมาย
หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นที่มิได้เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นต่างชาติ และนักลงทุนสถาบัน โดยบริษัทฯ จัดให้มีกระบวนการที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอวาระการประชุมและรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกรายส่งคำถามล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นมายังบริษัทฯ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำคัญแก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอและทันเวลาตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ เว็บไซต์บริษัทฯ และช่องทางอื่นๆ ที่ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและเท่าเทียมกัน การกำหนดมาตรการดูแลการใช้ข้อมูลภายในและการถือหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เป็นต้น
หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิและบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอก ด้วยตระหนักดีว่าผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทฯ และความมั่นคงยั่งยืนของกิจการเกิดขึ้นจากการได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน และเผยแพร่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกัน และดูแลให้ความมั่นใจว่าสิทธิตามกฎหมายของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดี
หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
การเปิดเผยข้อมูลเป็นดัชนีชี้วัดความโปร่งใสในการดำเนินงานที่สำคัญ เป็นปัจจัยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ โปร่งใส ทั่วถึง ทันเวลา และเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและหลากหลาย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานอื่นของรัฐอย่างเคร่งครัด และติดตามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง และเป็นหลักประกันให้ผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส
หมวดที่ 5 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการตระหนักถึงความรับผิดชอบและบทบาทในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงการกำหนดนโยบายวิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนกลยุทธ์ โดยมีการทบทวนเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมหากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้คณะกรรมการได้กำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลบนพื้นฐานของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ (Download)
การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัทถือเป็นเรื่องที่มีความสําคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกรรมการบริษัทเป็นผู้ที่มีบทบาทสําคัญในการกําหนดกลยุทธ์และแนวทางการดําเนินธุรกิจเพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทมีการบริหารจัดการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถสร้างผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่าระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้นและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งจะช่วยนําพาให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน
เพื่อให้การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัทดำเนินการอย่างมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและกำกับดูแลกิจการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัท
หลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัท (Download)
คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ในเงินลงทุนของบริษัทฯ ผ่านการดำเนินการต่างๆ ดังนี้
- มอบหมายให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากรของบริษัทฯ เข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
- กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของบริษัทฯ รายงานผลการดำเนินธุรกิจหรือข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านต่างๆ ของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมต่อที่ประชุมคณะกรรมการรายงานบริษัททุกไตรมาส นอกจากนี้ เมื่อบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมจะมีการขออนุมัติดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ เช่น การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ที่สำคัญ การร่วมทุน การเพิ่มทุนและลดทุน เป็นต้น ต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนที่จะไปลงมติหรือใช้สิทธิออกเสียงดำเนินการ
- กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมนั้น ต้องดูแลให้บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมมีข้อบังคับในเรื่องการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือการทำรายการสำคัญอื่นใดของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมดังกล่าวให้ครบถ้วนถูกต้อง และใช้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูล และการทำรายการข้างต้นในลักษณะเดียวกันกับหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ
- ดูแลให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมมีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอ และมีการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และสามารถรวบรวมมาจัดทำงบการเงินรวมได้ทันตามกำหนดเวลา
- ส่งเสริมส่งเสริมให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมนำนโยบายกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณธุรกิจ นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทฯ ไปปฏิบัติ
บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ ซึ่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาและรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์และยังไม่สามารถเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน หรือสาธารณชนทั่วไปได้ ดังนั้น การใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้องอันเป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่น ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดตามกฎหมายแล้วยังกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ อีกด้วย
ในปี 2562 คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัตินโยบายการเก็บรักษาและการใช้ข้อมูลภายใน และนโยบายการจัดการข้อมูลภายในที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์ (Insider Trading Policy) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและยุติธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย และเพื่อป้องกันมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลภายนอกที่มาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในของบริษัทฯ ซื้อขายหลักทรัพย์และหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- การใช้ข้อมูลภายใน
กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลภายนอกที่มาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในของบริษัทฯ ต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ และต้องปฏิบัติตามนโยบายการเก็บรักษาและการใช้ข้อมูลภายในอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ห้ามมิให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินเปิดเผยงบการเงินให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินทราบในช่วงตั้งแต่วันปิดงวดของงบการเงินจนถึงวันเปิดเผยงบการเงินดังกล่าว
- 2. การถือหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีสิทธิเสรีภาพในการลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายใน (รวมทั้งคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว) ต้องไม่ซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ (หุ้น) ของบริษัทฯ ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนการเปิดเผยงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี และภายใน 72 ชั่วโมง หลังการเปิดเผยงบการเงินดังกล่าว
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการบริษัทจะแจ้งเป็นอีเมลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ทราบช่วงระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ (Blackout Period) ของบริษัทฯ ล่วงหน้า
- การรายงานการถือหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
กรรมการและผู้บริหารตามนิยามของสำนักงาน ก.ล.ต. จะต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ของตนเอง รวมทั้งของคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นกรณีซื้อ ขาย โอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง และต้องส่งสำเนารายงานดังกล่าวให้แก่ฝ่ายเลขานุการบริษัทเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยเลขานุการบริษัทมีหน้าที่รวบรวมและรายงานข้อมูลการถือหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับทราบทุกไตรมาส และเปิดเผยข้อมูลจำนวนหุ้นที่ถือ ณ ต้นปีสิ้นปี และที่มีการซื้อขายระหว่างปีของกรรมการและผู้บริหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้ในรายงานประจำปี
บริษัทฯ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดกว้าง โปร่งใส และเป็นธรรม บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทฯ การทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองหรือบุคคล/นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯ การมีกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ อันอาจทำให้บริษัทฯ เสียผลประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่ควร การแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทฯ รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากกิจการส่วนตัวของบริษัทฯ การใช้ข้อมูลของบริษัทฯ หาผลประโยชน์ และการถือหุ้นในกิจการคู่แข่งของบริษัทฯ
คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันตามที่กฎหมายหรือหน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน รายการนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม เปรียบเสมือนการทำรายการกับบุคคลภายนอก และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ โดยผู้ที่มีส่วนได้เสียจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณารายการที่ตนมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ซึ่งอาจก่อให้เกิความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ต้องผ่านการสอบทานและให้ความเห็นจากคณะกรรมการตรวจสอบก่อนนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯ และเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และประกาศที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ได้กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่จัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนเองและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย โดยให้เปิดเผยข้อมูลการดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในนิติบุคคลอื่น ทั้งของกรรมการหรือผู้บริหารที่รายงาน ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและผู้บริหารดังกล่าว ภายใน 30 วันนับจากวันเข้าดำรงตำแหน่งในบริษัทฯ และรายงานทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการมีส่วนได้เสีย เพื่อให้กรรมการมีข้อมูลในการพิจารณาอนุมัติการเข้าทำรายการต่าง ๆ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อยได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เลขานุการบริษัทเป็นผู้เก็บรักษารายงานการมีส่วนได้เสีย และส่งสำเนารายงานการมีส่วนได้เสียดังกล่าวให้แก่ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบทราบภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับรายงาน
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ (Compliance) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ทุกๆ กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีความถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทฯ สามารถดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์และบรรลุเป้าหมาย
บริษัทฯ พิจารณาถึงการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการบริษัททำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทฯ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งกฎระเบียบและประกาศต่าง ๆ ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของหน่วยงานราชการที่มีผลผูกพันในการดำเนินธุรกิจ ให้คำปรึกษาและจัดอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายแก่ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับของหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง