ความยั่งยืน At A Glance

ความยั่งยืน At A Glance

นโยบายและกรอบการพัฒนาความยั่งยืน

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย คือ หนทางในการสร้างสรรค์คุณค่าในระยะยาวสำหรับบริษัทฯ บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย โดยยึดมั่นพันธสัญญา Excellent Experience for ALL” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจเพื่อการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

บริษัทฯ ได้น้อมนำเอา “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไข รวมทั้งหลักการสากลด้านความยั่งยืนต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความยั่งยืนและเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการดำเนินธุรกิจ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนด “นโยบายและกรอบการพัฒนาความยั่งยืน” รวมทั้งกำหนดให้ทุกกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทฯ จะต้องดำเนินการภายใต้นโยบายและกรอบการพัฒนความยั่งยืน และมุ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืนใน 3 มิติ อันได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และดำรงการยอมรับ ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

นโยบายการพัฒนาความยั่งยืน

กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนด “กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน”  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนขององค์กรในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมดุลและมีคุณภาพ พร้อมทั้งสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

นอกจากนโยบายและกรอบการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรแล้ว บริษัทฯ ยังนำมาตรฐานอื่นๆ มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาตรฐาน ISO, มาตรฐาน GRI เพื่อให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในทุกด้านให้ดีขึ้น

เพื่อขับเคลื่อนโยบาย กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม ตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารทุกระดับ และพนักงานทุกคน โดยคณะกรรมการบริษัททำหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และสนับสนุนการบูรณาการแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์และกระบวนการดำเนินธุรกิจ อนุมัตินโยบาย กรอบการดำเนินงาน ประเด็นสำคัญ เป้าหมาย กลยุทธ์ และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทน กำกับดูแลกิจการและคว่มยั่งยืน และคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องดังกล่าวในเบื้องต้น ตลอดจนกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

ในส่วนของการบริหารจัดการความยั่งยืนนั้น คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าสายงานและหน่วยธุรกิจต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้เป็นไปตามมาตรฐานและสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ผ่านการกำหนดประเด็นสำคัญ กลยุทธ์ เป้าหมาย แนวทางบริหารจัดการ แผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนเพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งและมอบหมายให้คณะกรรมการอำนวยการความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง และมีกรรมการผู้จัดการเป็นประธาน ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และกำกับดูแลการบริหารจัดการความยั่งยืนให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทั่วทั้งองค์กร พิจารณาให้ความเห็นชอบการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงานให้กับคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ

และเพื่อให้มั่นใจว่าความยั่งยืนถูกสอดผสานไปกับวัฒนธรรมองค์กรและการดำเนินงานประจำวัน มีการสื่อสารที่ชัดเจน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คณะทำงานส่งเสริมความยั่งยืนองค์กร ซึ่งประกอบด้วยแชมเปี้ยน (Champions) หรือผู้นำที่ทำหน้าที่บริหารจัดการประเด็นด้านความยั่งยืนแต่ละประเด็น มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลักดัน ติดตาม และประสานงานกับหัวหน้าสายงานและหน่วยธุรกิจต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดและสื่อสารนโยบาย ทิศทางกลยุทธ์ และแผนงานต่าง ๆ กับพนักงาน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำแผนงานไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

พันธกิจหลักของบริษัทฯ คือ “Excellent Experience for ALL” หรือ การส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับทุกคนบนห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ ดังนั้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์อันดีบนพื้นฐานของความไว้วางใจ ตลอดจนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นทรัพย์สินอันมีค่าที่จะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรพลเมืองดีที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และโอกาสในการหยุดชะงักทางธุรกิจ สร้างคุณประโยชน์และส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน บริษัทฯ จึงมีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจและรับข้อเสนอของผู้มีส่วนได้เสียมาบูรณาการเข้ากับกระบวนการตัดสินใจและวางแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

บริษัทฯ ได้มีการทบทวนการดำเนินงานการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นประจำทุกปี พร้อมระบุและจัดอันดับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งหาแนวทางในการตอบสนองต่อความคาดหวังและประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนจัดทำแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียต่อไป

บริษัทฯ จำแนกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียออกเป็น 8 กลุ่ม โดยพิจารณาจากความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ผลกระทบด้านความยั่งยืนของผู้มีส่วนได้เสียต่อบริษัทฯ  และผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต่อผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย ลูกค้า พนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ คู่ค้า ผู้ถือหุ้น/นักลงทุน หน่วยงานภาครัฐ/หน่วยงานกำกับดูแล เจ้าหนี้ ชุมชนและสังคม

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการประเด็นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยมีกระบวนการประเมินอ้างอิงตามกรอบการรายงานความยั่งยืนสากล Global Reporting Initiative (GRI) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการรวบรวมและประเมินประเด็นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการวิเคราะห์มุมมองและประเด็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตลอดจนศึกษาบริบทของความยั่งยืนและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและของภูมิภาครวมถึงอุตสาหกรรม ควบคู่กับการนำแนวทางการดำเนินกลยุทธ์ของบริษัทฯ และปัจจัยความเสี่ยงของบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่อาจส่งผลกระทบหรือเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจมาประกอบการประเมินความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืน

ขั้นตอนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

  1. การศึกษาและวิเคราะห์บริบทของบริษัทฯ

ศึกษาและวิเคราะห์บริบทด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ โดยพิจารณาทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ตลอดจนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค แนวโน้มและทิศทางด้านความยั่งยืน ประเด็นสำคัญของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม ประเด็นที่กำหนดในมาตรฐานและแบบประเมินความยั่งยืนของอุตสาหกรรม และประเด็นที่เป็นข้อกังวลระดับโลก

  1. การรวบรวมและระบุประเด็นด้านความยั่งยืน (Identification)

รวบรวมประเด็นด้านความยั่งยืนผ่านการวิเคราะห์มุมมอง ความคาดหวัง ความสนใจ ความกังวล และประเด็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและอุตสาหกรรม เหตุการณ์ในอดีต ปัจจัยความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่อาจส่งผลกระทบหรือเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ และหลักสิทธิมุษยชน จากนั้นระบุประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนขององค์กรทั้งเชิงบวกและลบ และจัดกลุ่มให้เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจและการกำกับดูแลกิจการ (ESG)

  1. การประเมินและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืน (Assessment and Prioritization)

นำประเด็นด้านความยั่งยืนที่ระบุและจัดกลุ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินผ่านการพิจารณาตามแนวทาง Double Materiality และ Multi-Stakeholder Approach เพื่อให้เห็นภาพรวมของผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม (Outward Impact) และผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Inward Impact) ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์และแบบสำรวจออนไลน์สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง และการใช้แบบสำรวจออนไลน์สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายในบริษัทฯ ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้จากผู้มีส่วนได้เสียจะถูกวิเคราะห์ในรูปแบบคะแนนที่ให้ต่อประเด็นด้านความยั่งยืนภายใต้เกณฑ์การประเมินระดับความรุนแรงและโอกาสของการเกิดผลกระทบทั้งต่อบริษัทฯ และต่อผู้มีส่วนได้เสีย จากนั้นจึงจัดทำแผนผังเพื่อจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืน (Materiality Matrix) โดยกำหนดให้แกนตั้ง (แกน Y ) แสดงถึงระดับนัยสำคัญของผลกระทบจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และแกนนอน (แกน X) แสดงถึงระดับนัยสำคัญของผลกระทบจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่มีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

  1. การทวนสอบประเด็นที่สำคัญ (Validation)

นำเสนอผลการประเมินและผลการจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณาทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนให้มีความสอดคล้องกับบริบท กลยุทธ์และเป้าหมายของบริษัทฯ ก่อนที่จะกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการจัดการต่อประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ในมิติต่าง ๆ และมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตอบสนองประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการอำนวยการความยั่งยืนและคณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่อนุมัติประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน รวมถึงกลยุทธ์และแนวทางการจัดการต่อประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ

ผลการการประเมินและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืน

ในปี 2566 บริษัทฯ มีประเด็นด้านความยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 20 ประเด็น โดยบริษัทฯ ได้ประเมินและจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความสำคัญของผลกระทบจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและการกำกับดูแลกิจการ ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียและที่มีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้แก่ ประเด็นที่มีความสำคัญมาก ประเด็นที่มีความสำคัญปานกลาง และประเด็นที่มีความสำคัญน้อย

สรุปประเด็นด้านความยั่งยืน ( ประเด็นที่มีความสำคัญมาก)

เป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทฯ ขับเคลื่อนภายใต้พันธสัญญา “Excellent Experience for ALL” ที่มุ่งมั่นสร้างคุณค่าให้กับกิจการและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในห่วงโซ่คุณค่า มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม สร้างโอกาสและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ควบคู่ไปพร้อมกันกับการเป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงอยู่ของโลกอย่างยั่งยืน ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจและการดำเนินงานที่สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

เป้าหมาย กลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน

กรอบการพัฒนาด้านความยั่งยืน ความมุ่งมั่น เป้าหมาย กลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการ การตอบสนองต่อ UN SDGs
ด้านเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าให้แก่กิจการและรังสรรค์ประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยด้วยโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอัจฉริยะที่แข็งแกร่ง • มีสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองได้ทุกความต้องการของลูกค้า
• ความพึงพอใจประจำปีโดยรวมของลูกค้าที่ร้อยละ 95
• ร้อยละ 100 ของคู่ค้ารับทราบจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า
• รักษาผลประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ “ดีเลิศ” หรือ “5 ดาว” ได้อย่างต่อเนื่องทุกปี
• ความสำเร็จในการได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) อย่างต่อเนื่อง
• ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
• ปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
• บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
• จัดหาแหล่งเงินทุนและบริหารการเงินอย่างรอบคอบ
• ลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพของโครงข่ายด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
• ลงทุนขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
• ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงคุณภาพการให้บริการ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน
• ส่งมอบบริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า
• บริหารจัดการความสัมพันธ์และความพึงพอใจของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
• ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายโอกาสในธุรกิจใหม่ รวมถึงเพื่อส่งมอบทางเลือกที่เหมาะสม และหลากหลายให้กับลูกค้า
• สร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจที่ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน
• รักษาความสามารถในการปกป้องระบบสารสนเทศ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
• ผนวกแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกกิจกรรมการดำเนินงาน
ด้านสังคม เป็นองค์กรที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม สร้างโอกาสและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน • ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
• อัตราการลาออกของพนักงานลดลง
• อุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงานเป็นศูนย์
• ร้อยละ 100 ของคนในสังคมสามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ
• เคารพสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน
• ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม สอดคล้องและดีกว่ามาตรฐาน ข้อกำหนด และกฎหมาย
• ส่งเสริมความหลากหลาย และการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงความแตกต่างใดๆ
• บริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ
• พัฒนาทักษะและ ความสามารถของบุคลากรด้วยการสนับสนุนการฝึกอบรมและทรัพยากรที่จำเป็น
• ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
• สนับสนุนระบบการจัดการอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
• คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
• ลงทุนขยายเส้นทางโครงข่ายให้ครอบคลุมเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานและข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสังคมและชีวิตความเป็นอยู่
• สนับสนุนและส่งเสริมพนักงาน รวมทั้งคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจให้มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม
• ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบริษัทฯ กับชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อสานความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง
สิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรที่มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม • การใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงจากการดำเนินงานลดลง
• การใช้กระดาษในสำนักงานลดลง
• ปริมาณของเสียจากกิจกรรมการดำเนินงานลดลง
• ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานเป็นศูนย์ในปี 2593
• ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
• จัดทํามาตรการเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า และพลังงานเชื้อเพลิงจากการดำเนินธุรกิจ
• สนับสนุนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• ควบคุมปริมาณการใช้กระดาษ และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการลดปริมาณการใช้กระดาษ
• ลดและกำจัดของเสียจากกิจกรรมการดำเนินงานอย่างถูกวิธี
• ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพยายามลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก
• ส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติระหว่างบริษัทฯ กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
• สร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสํานึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากร โดยการสื่อสารอย่างทั่วถึง และการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสําคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร